Photobucket Wellcome

13 June 2020

วิธีค้นหารูปภาพ Scammers บน Google, Facebook ด้วยโทรศัพท์มือถือ

13 มิ.ย.2563 (2020/6/13)

วิธีค้นหารูปภาพบน Google
และวิธีค้นหาภาพ Scammers บน Google, Facebook ด้วยโทรศัพท์มือถือ

          การค้นหาด้วยวิธีนี้ ระบบค้นหาจะแสดงเฉพาะเว็บไซต์ที่เคยลงภาพต้นฉบับไว้และแสดงเป็นเว็บสาธารณะเท่านั้น ส่วน Facebook หรือ WhatApp จะไม่แสดงผลในการค้นหานี้เพราะต้องมีการยืนยันตัวตน แต่พี่หงัดสอนวิธีหา Scammer (อย่างง่าย) ให้หาเจอได้ใน Facebook และตามเว็บไซต์ต่างๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นอยู่กับว่าเว็บไซต์และเพจเหล่านั้นมีการทำข้อมูลเตือนไว้หรือไม่ หากมีการทำเตือนไว้เราต้องหา Scammer เจอแน่นอน

(อ่านวิธีค้นหา Scammer ใน Facebook และในเว็บไซต์ต่างๆที่บทความด้านล่างสุดนะจ๊ะ)


(1)

วิธีการ ค้นหารูปโดยการดาวน์โหลด Application program ใน Play Store

1.  กดที่ Play Store เพื่อดาวน์โหลด Application



2.  กดที่ช่องค้นหา แล้วพิมพ์คำว่า Image Search จะปรากฏแอปพริเคชั่นหลายตัวมาให้เราเลือกใช้ พี่หงัดจะลองใข้แอปที่ชื่อว่า "Reverse image search" จากนั้นก็ดาวน์โหลดลงเครื่อง เมื่อดาวน์โหลดเสร็จแล้วให้เปิดแอปตัวนั้นขึ้นมา




3.  กดที่ปุ่ม ➕ ที่อยู่มุมขวาด้านล่างเพื่อเพิ่มรูปภาพ





4.  เลือก Gallery เพื่อเพิ่มรูปภาพที่ต้องการค้นหา





5.  พี่หงัดเลือกรูปภาพคนๆหนึ่งที่อ้างตัวว่าเป็นนายพลของประเทศสหรัฐอเมริกามาลองค้นหาดู จากนั้นกดปุ่ม ✔ ค้นหา




6.  พบรูปภาพนายพลปรากฎบนเว็บไซต์ต่างๆ ที่นำเสนอข่าวและรื่องราวของนายพลท่านนี้ ซึ่งระบบค้นหาจะแสดงเฉพาะเว็บไซต์ที่เคยลงภาพต้นฉบับไว้และแสดงเป็นเว็บสาธารณะเท่านั้น สามารถกดเข้าไปดูข้อมูลในเว็บไซต์ได้ และเปรียยเทียบกันดูว่าข้อมูลตรงกันกับคนที่คุยกับเราในเฟสบุ๊คหรือไม่ (ส่วนวิธีค้นหาว่าพวกมิจฉาชีพขโมยรูปภาพของนายพลมาใช้หรือไม่ ให้อ่านบทความด้านล่างสุดนะจ๊ะ)





7.  นี่คือภาพที่เคยค้นหาไว้ทั้งหมด โดยมีการบันทึกวันที่ และเวลาที่ค้นหาไว้ด้วย หากต้องการลบประวัติการค้นหาให้กดลบที่ปุ่ม ❌


Apologize for a person in this picture i used for sample case because of the scammers stolen his photos and made fake account in Facebook

●●●●●●●●●●


(2)

วิธีการ ค้นหาภาพบน Google โดยไม่ต้องดาวน์โหลด Application ให้เปลืองพื้นที่ในโทรศัพท์

1.  เปิดหน้า Google Chlom หรือ Google ที่มากับโทรศัพท์ก็ได้อันใดอันหนึ่งแล้วแต่ถนัด





2.  พิมพ์คำว่า Image Search ตรงช่องค้นหา แล้วกดปุ่มค้นหาเลย







3.  เลื่อนลงมาด้านล่าง ให้เลือกเว็บไซต์ https://www.labnol.org>reverse




4.  หน้าตาเว็บไซต์จะเป็นสีม่วงหวานๆแบบนี้ตามภาพ จากนั้นให้เลื่อนลงไปด้านล่าง ตรงคำว่า UPLOAD IMAGE เพื่อเพิ่มภาพที่จะค้นหา
⬇ กดปุ่ม UPLOAD IMAGE



5.  พี่หงัดเลือกภาพนายพลประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะมีคนๆหนึ่งใช้ภาพนี้และอ้างตัวว่าเป็นนายพลมาเล่นเฟสบุ๊ค จากนั้นให้กดปุ่ม SHOW MATCHING IMAGE แสดงภาพที่คล้ายกัน




6.  ระบบพาไปเจอภาพนายพลปรากฎบนเว็บไซต์ต่างๆ ที่นำเสนอข่าวและรื่องราวของนายพลท่านนี้ ซึ่งระบบค้นหาจะแสดงเฉพาะเว็บไซต์ที่เคยลงภาพต้นฉบับไว้และแสดงเป็นเว็บสาธารณะเท่านั้น และพี่หงัดเจอข้อมูลของนายพลใน วิกิพีเดีย เป็นข้อมูลที่ไม่ตรงกันเลยกับคนที่คุยกับเราในเฟสบุ๊ค ส่วนข้อมูลไม่ตรงกันยังไงตามไปอ่านด้านล่างสุด ➡ วิธีค้นหามิจฉาชีพ (Scammer) ที่มีผู้อื่นทำข้อมูลไว้บน Facebook และเว็บไซต์ต่างๆ





7.  จากนั้นเลือกกดข้อ 1. หรือข้อ 2. ก็ได้เพื่อลบภาพที่อัพโหลดเมื่อกี้ หรืออัพโหลดภาพอื่นต่อ

         กดปุ่ม  1. ลบภาพที่อัพโหลด
         กดปุ่ม  2. อัพโหลดภาพอื่น


Apologize for a person in this picture i used for sample case because of the scammers stolen his photos and made fake account in Facebook
●●●●●●●●●●


(3)

วิธีการ ค้นหามิจฉาชีพ (Scammer) ที่มีผู้อื่นทำข้อมูลไว้บน Facebook และเว็บไซต์ต่างๆ

1. เปิดหน้า Google Chlom หรือ Google ที่มากับโทรศัพท์ก็ได้อันใดอันหนึ่งแล้วแต่ถนัด





2.  พิมพ์ ชื่อ-นามสกล (บนเส้นสีแดงในภาพ) ของบุคคลที่ต้องการค้นหาลงไปในช่องค้นหา โดยพิมพ์คำว่า Scammer หรือ Scam ต่อท้ายลงไปด้วย เช่น John .............. scammer แล้วกดปุ่มค้นหา


3.  เจอเพจ Facebook และเว็บไซต์อื่นๆภายนอกเฟสบุ๊คที่ทำข้อมูลเกี่ยวกับ Scammers ไว้ด้วย โดยเพจและว็บไซต์ต่างๆเหล่านี้จะบอกเตือนว่าพวก Scammers ขโมยรูปนายพลมาใช้ ไม่ควรหลงเชื่อโดยง่าย จากนั้นให้กดเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมตามเพจและเว็บไซต์เหล่านี้

⬇ นี่คือเพจเฟสบุ๊คเป็นเพจของต่างชาติ


⬇ นี่คือเว็บไซต์เตือนเกี่ยวกับ Scammers เป็นของต่างชาติ และมีเว็บไซต์อื่นๆอีกหลายแห่งที่เตือนแบบเดียวกัน ⬇

          เรื่องมีอยู่ว่า....มิจฉาชีพคนนี้ส่งข้อความมาเป็นภาษาไทย อ้างตัวเองว่าเป็นนายพล ตอนนี้อยู่อัฟกานิสถาน นายพลอายุ 55 ปี ภรรยาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง อยู่กับลูกชาย 1 คน อายุ 11 ขวบ ตอนนี้ลูกชายอยู่โรงเรียนประจำ นายพลอยากมีคู่ชีวิตคนใหม่ อยากใช้ชีวิตที่มีความสุขกับเราในประเทศไทย เขาจึงใช้ตัวแปลภาษาไทยเป็นตัวช่วยคุย ช่วยอำนวยความสะดวกให้เราไม่ต้องลำบาก Speak English โดยส่งข้อความมาคุยใน Messenger แต่ไม่ยอมเปิดกล้องคุยให้เห็นหน้าเห็นตา โดยอ้างว่าเป็นความลับบ้าง ไม่ว่างบ้าง ต้องทำงานโง้นงี้

          แต่พี่หงัดเจอประวัตินายพลตัวจริงที่วิกิพีเดีย นายพลตัวจริงอายุ 60 ปี ภรรยายังไม่ตาย และมีลูกสาวที่อยู่ในวัยทำงานไม่ใช่เด็กน้อยวัย 11 ขวบ ล่าสุดมิจฉาชีพส่งรูปภาพเงินกองใหญ่ และภาพสิ่งของในกล่อง โดยกำชับว่าห้ามบอกใคร เพราะเป็นเงินที่ยึดได้จากซัดดัม ฮุสเซน ให้เก็บเป็นความลับ และบอกอีกว่าจะส่งเงินกับของขวัญมาให้ทางเรือขนส่งสินค้า ขอเลขที่บัตรประชาชน ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ของเรา ของจะส่งมาถึงเมืองไทยภายใน 3 วัน ให้เรารอรับของได้เลย และเมื่อเราได้รับเงินและของขวัญแล้ว อีกเจ็ดวันเขาจะบินมาหาที่เมืองไทย แต่พี่หงัดไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรไป เพราะว่าพร็อตเรื่องเดิมๆแบบนี้มันมีมานานหลายปี แล้วสเต็ปต่อไปก็จะบอกว่าของส่งมาถึงเมืองไทยแล้ว แต่ติดอยู่ที่ศุลกากรของออกมาไม่ได้ เราต้องจ่ายเงิน 38,000 บาท เป็นค่าธรรมเนียม ค่าภาษี ค่านั่นค่านี่ ไม่งั้นศุลกากรจะยึดของ แล้วจะมีคนโทรมาอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากรโทรมาเร่งให้เรารีบโอนเงินเข้าบัญชีของมิจฉาชีพผู้ร่วมขบวนการ เล่ามาถึงตรงนี้ขอให้ทุกคนจำข้อสังเกตนี้ไว้นะคะว่ากำลังถูกหลอก ข้อสังเกตคือ

1.  การส่งเงินกองโตทางเรือไม่มีใครเค้าทำกันหรอก ธนาคารและตู้ ATM มีเยอะแยะ เขาโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารกันค่ะ ยิ่งยุคสมัยนี้ยุคอินเตอร์เน็ตเค้าโอนเงินทางอินเตอร์เน็ตกันแล้ว โอนเงินเป็นล้านก็โอนได้ กดโทรศัพท์ผ่านแอปธนาคารจึ๊กเดียวเงินก็เข้าบัญชีแล้ว ซึ่งมิจฉาชีพจะอ้างว่าออกมาที่ธนาคารไม่ได้ แต่ออกมาส่งของที่ไปรษณีย์ได้ มันตลกแดกมากเลยค่ะ! ทั้งไปรษณีย์และธนาคารจะอยู่ในเขตชุมชนหรืออยู่ในเมืองกันทั้งนั้น คงไม่มีไปรษณีย์ที่ไหนไปตั้งโด่อยู่ลำพังในสถานที่ทุรกันดารลับพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกให้นายพลออกมาส่งพัสดุตามที่มิจฉาชีพกล่าวอ้าง

          ส่วนในกรณีโอนเงินจากต่างประเทศโดยผ่านบัญชีธนาคารของจริงนั้น เราต้องไปขอ SWIFT Code คือรหัสที่ใช้สำหรับระบุธนาคารและสาขาของธนาคาร ใช้สำหรับโอนเงินต่างประเทศของธนาคารที่เราเปิดบัญชีอยู่ แล้วส่ง SWIFT Code กับ เลขที่บัญชีธนาคาร ชื่อ-นามสกุลภาษาอังกฤษของเราให้คนทางโน้นโอนเงินมาเข้าบัญชีเรา (ไม่ต้องใช้เลขที่บัตรประชาชน และเบอร์โทรศัพท์) ซึ่งการโอนเงินผ่านธนาคารจะใช้เวลา 3 วันทำการ เงินที่โอนจึงจะเข้าบัญชีเนื่องจากขั้นตอนและกระบวนการของธนาคาร หากติดวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ จะนับรวมเป็น 5 วัน เงินโอนจึงจะเข้าบัญชีเรียบร้อย

          ■ ให้คุณลองคิดดูง่ายๆเลยถ้าเป็นคุณจะส่งเงินสด หนึ่งล้านบาท ให้ญาติที่อยู่ต่างจังหวัด คุณจะเลือกส่งเงินสดด้วยวิธีการใด
          ข้อ ก. โอนเงินผ่านบัญชีธนาคารให้ญาติ
          ข้อ ข. ฝากเงินสดส่งไปกับบริษัทขนส่ง เคอร์รี่

          ให้คิดถึงหลักความจริงและใช้เหตุผลคิดเอานะถ้าเป็นคุณจะเลือกใช้วิธีไหน อย่าให้ความโลภ ความหลงมันบังตา บังสมอง จนไม่ฉุกคิด ไม่นึกเอะใจถึงความผิดปกติเหล่านี้

2.  ส่วนเรื่องการส่งพัสดุทางเรือ ระยะเวลาการขนส่งมีดังนี้
       - เรือขนส่งสินค้าจากสหรัฐอเมริกา ใช้เวลาขนส่ง 30 - 60 วัน ประเทศในทวีปอเมริกา เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล เม็กซิโก แคนาดา และอื่นๆ
       - เรือขนส่งสินค้าจากแถบยุโรป ใช้เวลาขนส่ง 3 เดือน ประเทศในทวีปยุโรป เช่น รัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมัน นอร์เวย์ อิตาลี่ และอื่นๆ (พี่หงัดเคยส่งพัสดุไปให้เพื่อนที่อยู่เยอรมัน ใช้บริการส่งพัสดุกับไปรษณีย์ไทย ในช่วง Covid-19 ระบาดหนัก เครื่องบินหยุดบินต้องส่งพัสดุทางเรือ ใช้เวลานาน 2 เดือนกว่าของจะถึงเยอรมัน พี่หงัดส่งพัสดุวันที่ 2 เม.ย.2563 พัสดุถึงมือผู้รับที่เยอรมัน วันที่ 19 มิ.ย.2563)
      - เรือขนส่งจากทวีปเอเซีย ใช้เวลาขนส่ง 18 - 47 วัน จนถึง 3 เดือน ประเทศในทวีปเอเชีย เช่น ไทย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ลาว อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อิรัก อิหร่าน ซีเรีย เยเมน อินเดีย และอื่นๆ
       - เรือขนส่งจากทวีปออสเตรเลีย ใช้เวลาขนส่ง 30 - 45 วัน จนถึง 3 เดือน ประเทศในทวีปออสเตรเลีย เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี คองกา และอื่นๆ
       - เรือขนส่งสินค้าจากแอฟริกา ใช้เวลาขนส่ง 30 - 60 วัน ประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น ไนจีเรีย เคนยา กานา แคเมอรูน และอื่นๆ

       🔴 จำไว้เลย! เรือขนส่งสินค้าจากต่างประเทศไม่สามารถส่งพัสดุได้เร็วปรี๊ดเพียงแค่ 3 วัน แต่ถ้าส่งพัสดุทางเครื่องบิน หรือขี่จรวดนั่นแหละจึงจะทำได้ ถ้าไม่เชื่อให้เดินไปถามไปรษณีย์ หรือบริษัทขนส่งแถวบ้านคุณดูสิว่าจริงหรือเปล่า หรือจะโทรถามไปรษณีย์ก็ได้ โทรถามเลย!!🔴

🚨 ข่าวจากช่อง one31 🚨
          (เผยแพร่ข่าววันที่ 2 ต.ค.2563) แก๊งมิจฉาชีพหลอกขอแม่ชีแต่งงาน หลอกว่ามีความลับจะบอกห้ามบอกใคร ความลับคือ เขาไปรบที่อัฟกานิสถานได้เงินที่ยึดมาจากซัดดัม ฮุสเซน จะส่งเงินมาให้ทางเครื่องบิน แต่ต้องเสียภาษีประมาณ 38,000 บาท ถ้าไม่จ่ายเงินจะไม่ได้รับของ แม่ชีหลงกลสูญเงินไปแสนกว่าบาท

          เป้าหมายใหม่คือกลุ่มผู้สูงอายุ ฝากเตือนญาติผู้ใหญ่ของคุณให้ระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้สูงอายุผู้ที่ชอบเล่นเฟสบุ๊ค

ข่าวแจ้งเตือน (ใครไม่รู้สมควรอ่าน!) เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 ข่าวจากเพจกรุงเทพธุรกิจ เตือนว่ามิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากรเรียกเก็บค่าธรรมเนียม และภาษี หากไม่จ่ายจะยึดพัสดุที่ส่งมาจากต่างประเทศ โดยใช้เอกสารปลอมมาหลอกลวง อ่านเพิ่มเติมที่นี่ ➡ มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นศุลกากร เรียกเก็บค่าธรรมเนียมและภาษีพัสดุที่ส่งมาจากต่างประเทศ

หากมีข้อสงสัยขอให้โทรสอบถามเจ้าหน้าที่ศุลกากรไปรษณีย์โดยตรงที่เบอร์ 02-5751002-3 หรือโทร 1164
ดูเพิ่มเติมที่นี่ ➡ กรมศุลกากร (เฟสบุ๊ค)



3.  การให้เลขที่บัตรประชาชน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เลขที่บัญชีธนาคารกับมิจฉาชีพ ระวังถูกมิจฉาชีพนำข้อมูลไปใช้ทำบัตรเคดิตกดเงิน ซื้อของ ระวังจะมีบิลหนี้สินส่งมาที่บ้าน หรือมิจฉาชีพอาจแฮกบัญชีธนาคารขโมยเงินในบัญชีไปหมด

          และ 3 สิ่งที่ไม่ควรให้มิจฉาชีพรู้
            1.  เลขที่บัตรประชาชน
            2.  เลขที่บัญชีธนาคาร
            3.  เบอร์โทรศัพท์

อ่านเพิ่มเติมที่นี่ ➡ ประกาศเตือนจากกองปราบ
อ่านเพิ่มเติมที่นี่ ➡ เตือนจาก Line Today


          แม้คุณจะไม่ใช่แม่ค้าออนไลน์ คุณเป็นเพียงคนเล่นเฟสบุ๊คธรรมดาก็สามารถเงินเกลี้ยงบัญชีได้ ถ้ามิจฉาชีพรู้เลขที่บัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร และเบอร์โทรศัพท์ เพราะมิจฉาชีพจะนำข้อมูลของคุณไปเปิดบัญชีกระเป๋าเงินอิเล็คทรอนิคที่เรียกว่า E-Wallet แล้วเชื่อมเข้ากับบัญชีธนาคารของคุณ จากนั้นคุณจะได้รับข้อความทางโทรศัพท์มือถือในทำนองว่า "คุณต้องการที่จะให้บัญชีธนาคารของคุณเชื่อมต่อกับกระเป๋าเงินอิเล็คทรอนิกส์หรือไม่" ถ้าคุณกด "ตกลง" หรือ "ยอมรับ" การเชื่อมบัญชี E-Wallet ของมิจฉาชีพกับบัญชีธนาคารของคุณเป็นอันเสร็จสมบูรณ์ จากนั้นมิจฉาชีพจะทำการถ่ายโอนเงินในบัญชีธนาคารของคุณเข้าบัญชีของมิจฉาชีพได้ทันที ส่วนวิธีการยกเลิกการเชื่อมต่อบัญชีธนาคารของคุณกับบัญชี E-Wallet ของมิจฉาชีพ ต้องนำสมุดบัญชีธนาคาร กับบัตรประจำตัวประชาชน ฯลฯ ไปทำการยกเลิกที่ธนาคารเท่านั้น

คลิปวิดีโอ ข่าวช่องวัน I one 31

          หรือจะอ่านขั้นตอนที่มิจฉาชีพจะขโมยเงินในบัญชีของคุณยังไง อ่านเพิ่มเติมที่นี่ VOICE TV



4.  ทหารอเมริกันจริงๆจะไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยความลับเรื่องงานแก่ผู้ใด รวมถึงหน้าที่การงานคือสิ่งที่ควรเก็บเป็นความลับ ทหารอเมริกันเวลาออกไปข้าวนอกแล้วมีคนถามว่าเขาทำงานอะไร เขาจะตอบสั้นๆแค่ว่า "เขาเป็นทหาร" และทหารอเมริกันจะไม่ส่งเอกสาร บัตรประจำตัวทางทหารถึงคนที่รู้จักกันทางออนไลน์เด็ดขาด เนื่องจากกฏระเบียบทางทหารที่เข้มงวดไม่อนุญาตให้เปิดเผยสิ่งใดต่อผู้อื่น ดังนั้นเอกสารที่เขาส่งให้คุณดูจึงเป็นเอกสารปลอม

ข่าวจาก มติชน ทีวี

●●●●●●●●●●


(4)

วิธีรายงานบัญชี และรูปภาพของมิจฉาชีพ (Scsmmers) กับทาง Facebook

          วิธีการรายงานบัญชีของมิจฉาชีพ พี่หงัดขอยกตัวอย่างมิจฉาชีพเป็นคนอินเดีย แต่ที่ใช้ภาพนายทหารคนหนึ่ง ยศนายพลประเทศสหรัฐอเมริกาชื่อ John มาหลอกลวงในเฟสบุ๊ค โดยมิจฉาชีพคนนี้ใช้ชื่อโปรไฟล์เฟสบุ๊คว่า Nitin Kumpavat แต่ส่งข้อความมาบอกใน Messenger ว่าตัวเองชื่อ John..... เป็นนายพลตอนนี้อยู่ที่อัฟกานิสถาน เมียตายแล้วด้วยโรคมะเร็ง มีลูกชายอายุ 11 ขวบ ยึดเงินจำนวน 500,000 ดอลล่าสหรัฐได้จากซัดดัม ฮุสเซ็น จะส่งเงินกองใหญ่มาให้เราเก็บไว้ แล้วจะมาแต่งงานอยู่ด้วยกันที่เมืองไทย (ก็พร็อตเรื่องเดิมๆของมิจฉาชีพนั่นแหละ) มาเริ่มรายงานเลยดีกว่า

          การรายงานโปรไฟล์กับการรายงานรูปภาพนั้นมีขั้นตอนการรายงานเหมือนกัน การรายงานรูปภาพนั้นให้กดเข้าไปที่รูปภาพแล้ว กดที่ปุ่มเพิ่มเติม คือจุดสามจุด ●●● ที่มุมบนด้านขวา

1.  เข้าไปที่หน้าโปรไฟล์ของมิจฉาชีพ สำหรับโทรศัพท์ซัมซุง ออปโป ให้กดที่ปุ่มเพิ่มเติม คือจุดสามจุด ●●● ข้างๆสัญลักษณ์ Messenger ส่วนโทรศัพท์ไอโฟน ไอแพด ให้กดที่ปุ่มฟันเฟือง




2.  กดเลือก ➡ ค้นหาการสนับสนุนหรือรายงานโปรไฟล์




3.  เลือกหัวข้อที่จะรายงาน พี่หงัดเลือกรายงานบัญชีแล้วกันค่ะ จากนั้นกดปุ่มถัดไป




4.  จะเลือกกดปุ่มเรียบร้อยเลย หรือรายงานโปรไฟล์ ส่งให้เฟสบุ๊คตรวจสอบด้วยก็ได้ พี่หงัดจะลองส่งให้เฟสบุ๊คตรวจสอบ ผลจะออกมาเป็นยังไงมาดูกัน




5.  ติ๊กเครื่องหมาย ✔ ตรงช่อง ฉันเชื่อว่าเนื้อหานี้ขัดต่อมาตรฐานชุมชนของ Facebook แล้วกดปุ่ม ➡ รายงาน




6.  กดปุ่ม ➡ ถัดไป






7.  กดปุ่ม ➡ เรียบร้อย




8.  รอสักพักใหญ่ๆ เฟสบุ๊คตอบกลับมาว่า โปรไฟล์นี้ไม่ขัดต่อมาตรฐานของชุมชนเฟสบุ๊ค จึงสรุปได้ว่า หากโปรไฟล์นี้เป็นโปรไฟล์ของมิจฉาชีพ แต่ไม่มีภาพโป๊เปลือย เลือดสาด น่าสยดสยอง ไม่โพสเรื่องผิดกฏหมายอย่างโจ่งแจ้ง ก็ถือว่าไม่ขัดกับมาตฐานของชุมชนเฟสบุ๊ค แต่หากเราช่วยกันรายงานบัญชีมิจฉาชีพหลายๆคน พี่หงัดคิดว่าคงมีผลกับบัญชีของพวกมิจฉาชีพบ้างแหละ อย่าปล่อยให้มิจฉาชีพลอยนวลจ้า!
(ไม่แนะนำให้ใช้การรายงานบัญชีแบบนี้ไปแกล้งคนอื่นนะจ๊ะ มันไม่น่ารัก)



          พี่หงัดทดลองทำกับบัญชีเฟสบุ๊คของตัวเอง ที่พี่หงัดเปิดไว้ผูกบัญชีเล่นเกมส์โดยเฉพาะ โดยการแจ้งรายงานกับเฟสบุ๊คว่าบัญชีเล่นเกมส์ของพี่หงัดเป็นบัญชีปลอม แจ้งไปเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ผ่านไปประมาณ 20 นาที พี่หงัดลอง Login บัญชีเกมส์นั้นอีกครั้งปรากฏว่า บัญชีนั้นถูกระงับการใช้งานโดยทันที โดยเฟสบุ๊คแจ้งมาว่าบัญชีเล่นเกมส์ของพี่หงัดขัดต่อมาตรฐานของชุมชนในเฟสบุ๊ค แต่กับบัญชีของมิจฉาชีพเฟสบุ๊คกลับบอกว่าไม่ขัดต่อมาตรฐานของชุมชนเฟสบุ๊ค พี่หงัดจึงไม่แน่ใจว่ามาตรฐานที่ถูกต้องแท้จริงของเฟสบุ๊ควัดจากอะไรกันแน่!!! เชื่อถือได้หรือไม่ให้พิจารณากันเอาเองเน้อ

          สรุปได้ว่าไม่มีใครปกป้องตัวเราได้ดีกว่าเราปกป้องตัวเอง หาข้อมูลให้มากๆ อ่านให้เยอะๆ สงสัยให้มากหน่อย ปรึกษาคนอื่นด้วยก็ดี หากพบคนแปลกหน้าในเฟสบุ๊คส่งข้อความมาหา พูดจาหวานๆ โปรไฟล์เลิศ และรวยมาก จู่ๆมาตกหลุมรักคนหน้าตาบ้านๆอย่างเรา อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเขารักเราจริงๆตามคำกล่าวอ้าง เพราะอาจเป็นมิจฉาชีพมาหลอกลวงต้มตุ๋นเอาเงินเราก็เป็นได้

●●●●●●●●●●●


(5)

วิธีการกู้คืนบัญชีเฟสบุ๊ค
ในกรณีถูกปิดบัญชี โดยไม่ทราบสาเหตุ สิ่งที่ต้องเตรียมคือ บัตรประชาชน หรือบัตรที่ราชการออกให้
1.  Login บัญชีที่ถูกปิดอีกครั้ง แล้วกดปุ่มเข้าสู่ระบบ

2.  จะพบว่าบัญชีถูกปิดใช้งาน กดปุ่ม ส่งคำขอให้ตรวจสอบ



3.  ใส่เบอร์มือถือที่ต้องการให้ส่งรหัส แล้วกดปุ่ม ส่งรหัส แต่ถ้าเบอร์โทรศัพท์นี้คุณเคยให้เฟสบุ๊คไว้เป็นข้อมูลในเฟสอื่นด้วย เบอร์นี้จะถูกลบออกจากเฟสบัญชีอื่นทันที



□ นี่คือบัญชีหลักของพี่หงัดที่เฟสบุ๊คลบเบอร์โทรศัพท์ออกทันทีที่นำไปใช้ยืนยันบัญชีเกมส์ แต่ก็สามารถอัพเดทหมายเลขโทรศัพท์กลับคืนได้ตามเดิม โดยเข้าไปที่ แก้ไขข้อมูลโปรไฟล์ แล้วเพิ่มเบอร์โทรศัพท์ ส่วนเบอร์นี้ที่ใช้ยืนยันในบัญชีเกมส์ก็จะถูกลบออกแทน



4.  มาต่อที่การกู้บัญชีดีกว่า รหัสจะถูกส่งเข้าโทรศัพท์มือถิอที่ให้ไว้กับเฟสบุ๊ค



5.  นำรหัสเลข 6 หลักที่ได้มาใส่ในช่องป้อนรหัส แล้วกดปุ่มถัดไป



6.  จากนั้นเฟสบุ๊คจะให้เราถ่ายภาพบัตรประชาชน หรือใบขับขี่ หรือบัตรประจำตัวที่ราชการออกให้ ถ่ายหน้าบัตรแล้วส่งให้เฟสบุ๊คตรวจสอบ โดยกดปุ่ม ถ่ายรูป แล้วส่งให้เฟสบุ๊คตรวจสอบอาจใช้เวลา 3-7 วันในการตรวจสอบ

          แต่ในกรณีนี้พี่หงัดตัดสินใจจะไม่กู้คืนบัญชีเกมส์นี้ เพราะการกู้คืนบัญชีเฟสบุ๊คจะบังคับให้เราเปลี่ยนเป็นชื่อ-นามสกุลจริงตามบัตรประชาชน พี่หงัดจะเก็บบัตรประชาชนไว้ใช้ยืนยันตัวตนกับบัญชีหลักของพี่หงัดในกรณีที่เกิดปัญหาบัญชีหลักถูกระงับ พูดตรงๆเลยว่าพี่หงัดก็เริ่มไม่ไว้ใจเฟสบุ๊คเรื่องความปลอดภัยในบัญชีหลักของตัวเองหากนำบัตรประชาชนมายืนยันบัญชีเกมส์เกรงว่าจะมีปัญหาใช้ยืนยันบัญชีหลักไม่ได้ เอาเป็นว่าขั้นตอนต่อจากนี้ผู้อ่านจะต้องดำเนินการต่อด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายแล้วคือการถ่ายรูปบัตร คงไม่ยากเกินความสามารถของผู้อ่านแน่นอน



ในกรณีถูกปิดบัญชี แล้วลืมพาสเวิร์ดเฟสบุ๊ค สิ่งที่ต้องเตรียมคือ บัตรประชาชน หรือบัตรที่ราชการออกให้
1.  เปิดหน้า Login แล้วพิมพ์ E-mail ของคุณลงไป จากนั้นกดปุ่ม ➡ ลืมรหัสผ่านใช่หรือไม่


2.  เฟสบุ๊คจะส่งรหัสให้ใน E-mail จากนั่นกดปุ่มดำเนินการต่อ



3.  รหัสกู้คืนบัญชีเฟสบุ๊คถูกส่งเข้า E-mail นำรหัสที่ได้ไปใส่ยืนยันในเฟสบุ๊ค


4.  ใส่รหัสยืนยันเลข 6 หลัก หากยังไม่ได้รับรหัสให้กดปุ่มส่งอีเมลล์อีกครั้ง เมื่อเสร็จแล้วให้กดปุ่มดำเนินการต่อ



5.  เฟสบุ๊คให้เราตั้งรหัสผ่านของเฟสบุ๊คใหม่ แล้วกดปุ่มดำเนินการต่อ




6.  เฟสบุ๊คเตือนให้จำรหัสผ่านใหม่ แล้วกด ตกลง





7.  กดปุ่มดำเนินการต่อ



8.  ถ่ายรูปบัตรประชาชน หรือบัตรที่ราชการออกให้เป็นการยืนยันตัวตนส่งให้เฟสบุ๊คตรวจสอบเป็นขั้นตอนสุดท้าย จากนั้นอาจจะต้องรอ 3-7 วันในการตรวจสอบ



●●●●●●●●●●

หมายเหตุ : ภาพตัวอย่างอาจไม่ค่อยชัดเจน ขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน เนื่องจากกระทำการทุกอย่างในโทรศัพท์ ทั้งตัดกรอบ ระบายสี กระบวนการจัดทำจึงไม่เนี๊ยบเท่าที่ควร ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

Apologize for a person in this picture i used for sample case because of the scammers stolen his photos and made fake account in Facebook


🍒 Thanks for visit my blog 🍒

No comments:

Post a Comment